คราวหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ปราสาทในสวนมะม่วงของพวกศากยะ เมืองเวธัญญา แคว้นสักกะ เวลานั้นนิครนถนาฏบุตรสิ้นชีวิตลงที่เมืองปาวา ต่อมาทำให้สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกแยกกัน ก่อการทะเลาะเบาะแว้งต่อกันในเรื่องคำสอนของศาสดา
ครั้งนั้น ท่านพระจุนทะมหาเถร(น้องชายพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร) อยู่จำพรรษาใกล้เมืองปาวาทราบเรื่องนั้นและเกรงว่าเรื่องทำนองนั้นจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาเมื่อพระบรมศาสดาปรินิพพานแล้ว ท่านจึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์มหาเถรซึ่งจำพรรษา ณ สามคาม แล้วเล่าสาวกนิครนถ์ให้ท่านพระอานนท์ฟังและขอให้พาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระอานนท์เห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและมีเหตุผลเพียงพอในการที่จะนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธองค์ จึงพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ สวนมะม่วงเมืองเวธัญญา แคว้นสักกะ
พระพุทธเจ้าทรงปรารภเรื่องที่พระจุนทะและพระอานนท์กราบทูลนี้ จึงทรงแสดงเรื่องเกี่ยวกับ ศาสดา คำสอน และสาวก ที่ควรตำหนิ และสรรเสริญ ดังนี้
๑. ถ้าศาสดา คำสอน และสาวก ไม่ดีทั้งหมด ก็ควรถูกตำหนิทั้ง ๓ ฝ่าย
๒. ถ้าศาสดา และคำสอน ดี แต่สาวกไม่ดี ศาสดาและคำสอนย่อมได้รับการสรรเสริญ และใครปฏิบัติตามก็ย่อมได้บุญเป็นอันมาก
๓. ถ้าศาสดาและคำสอนไม่ดี แม้สาวกจะดีก็ย่อมถูกตำหนิทั้ง ๓ ฝ่าย และใครปฏิบัติตามก็ย่อมไม่เป็นผลดี
๔. ถ้าศาสดา คำสอน และสาวกดี ทั้งหมด ก็ย่อมได้รับการสรรเสริญทั้ง ๓ ฝ่าย และใครปฏิบัติตามก็ย่อมได้บุญเป็นอันมาก
๕. ถ้าศาสดาและคำสอนดี แต่สาวกไม่เข้าใจคำสอนอย่างแจ่มแจ้ง เมื่อศาสดาสิ้นชีพ สาวกก็จะเดือดร้อนใจในภายหลัง
๖. ถ้าศาสดาและคำสอนดี ทั้งสาวกก็เข้าใจคำสอนแจ่มแจ้ง เมื่อศาสดาสิ้นชีพ สาวกก็ย่อมไม่เดือดร้อนใจภายหลัง
ตรัสต่อไปว่า พรหมจรรย์ (คือศาสนา) หรือระบอบการครองชีวิตอันประเสริฐ จะเรียกได้ว่าถึงความบริบูรณ์เต็มที่ก็ต่อเมื่อพระศาสดาเป็นเถระบวชนาน มีความรู้ความฉลาด สาวกที่เป็นพุทธบริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา (อุบาสก อุบาสิกา ทั้งพวกที่ถือพรหมจรรย์และพวกไม่ถือพรหมจรรย์ คือ ยังครองเรือนอย่างชาวบ้านอยู่) รู้ธรรมเข้าใจธรรม มีความฉลาด กล้าหาญ สามารถย่ำยี ปรัปวาท(คำล่วงเกิน คำกล่าวหยาบหยาม) ของลัทธิอื่นได้ ทรงยืนยันว่าในศาสนาของพระองค์นี้ ทั้งศาสดาและสาวกที่เป็นพุทธบริษัททั้ง ๔ สมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะดังกล่าวพรหมจรรย์ (คือศาสนา) ของพระองค์จึงถึงความบริบูรณ์เต็มที่ ยั่งยืนอยู่ได้
ต่อจากนั้น พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์และพระจุนทะให้ลองจัดระเบียบหรือสังคายนาพระธรรมวินัยโดยวิธีการเทียบเคียงพยัญชนะและความหมายของธรรม(อัตถะ) ว่าเข้ากันได้หรือไม่ ถูกทั้งสองอย่างหรือไม่ ถ้าเห็นว่าอย่างไหนผิดก็ลองสอบทานใหม่จนกว่าจะแน่ใจ
ต่อจากนั้น ได้ทรงแสดงธรรมอื่น ๆ อีกเป็นอันมากแก่พระอานนท์และพระจุนทะ รวมทั้งวิธีโต้ตอบข้อกล่าวหาของผู้นับถือลัทธิอื่น พระอุปทานะซึ่งยืนถวายงานพัดอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์(ข้างหลัง) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาว่า น่าอัศจรรย์ น่าเลื่อมใส พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าให้เรียกธรรมปริยายนี้ว่า “ปาสาทิกะ”
(ปาสาทิกสูตร พระไตรปิฏกเล่มที่ ๑๑ ข้อ ๙๔ – ๑๒๙)
ข้อสังเกตุ
พระสูตรนี้นับว่าเป็นตัวอย่างในเรื่องความแตกแยก ความสามัคคี ได้เป็นอย่างดี สำหรับเราชาวพุทธในประเทศไทย ซึ่งทุกวันนี้ ควรนับได้ว่ากำลังอยู่ในภาวะเดียวกันกับสาวกนิครนถ์ เพราะมีชาวพุทธเป็นจำนวนมากที่ไม่เข้าใจคำสอนของพระบรมศาสดา และมีความเห็นแตกต่างกัน คือต่างหมู่ต่างคณะก็มักจะปฏิบัติไปตามอาจารย์ของตนเอง โดยมิได้คำนึงถึงความถูกผิดประการใด มักจะไม่ได้สอบสวนกันก่อนที่จะเชื่อว่า สิ่งที่ตนปฏิบัติถูกต้องกับหลักฐานพระบาลีหรือไม่
ในเมืองไทยเวลานี้มีนิกายใหญ่อยู่ ๒ นิกาย ยังไม่พอ ยังประพฤติปฏิบัติไม่เหมือนกันอีกต่างหาก ไม่ต้องพูดถึงความต่างของนิกายหรอก แม้นิกายเดียวกันก็ยังแบ่งแยกกันออกไปตามครูบาอาจารย์สำนักต่าง ๆ ดูแล้วน่าเป็นห่วง ใครจะโจมตีเราก็ช่างเถิดท่านทั้งหลาย แต่ชาวพุทธด้วยกันอย่าโจมตีกันเลย จะดีจะชั่วอย่างไร ก็มีพระบรมศาสดาอันประเสริฐสูงสุดพระองค์เดียวกัน สามัคคีกันไว้จะไม่ดีกว่าหรือ.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น